เกี่ยวกับเรา

มูลนิธิธารพระพรใหม่

ความเป็นมา

“สักวันผมต้องสร้างเด็กชาวเขาให้มีคุณภาพชีวิต อย่างน้อยต้องดีกว่าผม อยากให้เขามีการศึกษา มีงานทํา เพื่อที่วันนึงเขาจะกลับไปช่วยเหลือครอบครัวได้”

นี่คือความตั้งใจแรกของอาจารย์สมชาย  พรสิริวงศ์ หรือที่รู้จักกันในนามของสล่า(อาจารย์) ของบ้านเด็กธารพระพร ที่ปรารถนาจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆบนดอยให้ดีขึ้น อาจารย์สมชายเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่เป็นชาวลาหู่ที่มาจากพม่า มาตั้งรกรากที่จังหวัดเชียงราย เนื่องจากความอัตคัดของครอบครัวจึงทําให้พ่อแม่จําต้องส่งท่านมาอยู่โรงเรียนประจํา สําหรับเด็กชนเผ่าในเมืองเชียงราย เมื่ออยู่ในโรงเรียน ก็ถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อย พูดไทยไม่ชัด นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทําให้อาจารย์มีความมุ่งมั่นใน การสร้างบ้านพักเด็กขึ้นมาให้เด็กๆทุกคนมีที่ยืนในสังคม

ในปี คศ.2014 อาจารย์สมชายและภรรยาได้เริ่ม ต้นเปิดบ้านพักเด็กขึ้น โดยได้รับที่ดินจากมูลนิธิบ้านนกขมิ้นในพื้นที่ที่หมู่บ้านสันก้างปลา อําเภอแม่สรวย จ.เชียงราย เพื่อต้อนรับเด็กกําพร้า เด็กยากจน และเด็กด้อยโอกาส โดยให้ความช่วยเหลือแบบองค์รวมทั้งในด้านการศึกษา ที่พักอาศัยที่ปลอดภัย มีอาหารที่ถูกสุขอนามัยและการอบรมทางด้านคุณธรรมจริยธรรมตามหลักการของพระคริสตธรรมคัมภีร์ ปัจจุบันมูลนิธิธารพระพรใหม่ สามารถรองรับเด็กๆได้ถึง 65 คน โดยการสนับสนุนจากคุณพ่อเออร์วิน ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ผู้ก่อตั้งบ้านนกขมิ้น เรามีเป้าหมายที่อยากจะสร้างชีวิตน้อยๆเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงและเข้มแข็งเพื่อเป็นกําลังสําคัญในการพัฒนาสังคมต่อไป

บ้านเด็กธารพระพร
บ้านเล็กๆเพื่ออนาคตที่ยิ่งใหญ่ของเด็กชาวเขา

“หง่า อ่อ ห่อย กะ ฮูอา เสะ”

หนุ่มมูเซอวัย 31 ปีหันไปยังที่มาของเสียงภาษาชาวเขา ที่หมายความว่า ช่วยรับหลานไปเลี้ยงด้วย เขาเห็นหญิงสูงวัยคนหนึ่ง ในมือจูงเด็กชายวัย 10 ขวบ หน้าตามอมแมม สอบถามได้ความว่า พ่อเด็กติตยาแม่หายสาบสูญ ภาพของเขาสมัยเด็กซ้อนทับขึ้นมา หากเขาไม่ได้เรียนหนังสือ อนาคตคงเสี่ยงคุกตะรางเหมือนเด็กชนเผ่าทั่วไป


“พ่อแม่ผมเป็นพม่า อพยพมาอยู่เชียงรายตั้งแต่ผมยังไม่เกิด”สมชาย นายยอย หรือสล่าของเด็กชาวเขาในบ้านเด็กธารพระพร เริ่มต้นเล่า……..

“ครอบครัวเรายากจน พ่อแม่จึงส่งผมมาเรียนโรงเรียนประจำสำหรับเด็กชาวเขาในตัวเมืองเชียงราย ณ ตอนนั้นเด็กชาวเขาอย่างผม คิดแค่ว่าเรียนจบ ม.6 ก็ดีใจแล้ว กระทั่งรุ่นพี่บอกว่า หากเรามีความ ตั้งใจ มีความใฝ่ฝัน ก็ให้ลองลงมือทำ ซึ่งผมมีความฝันว่าอยากเป็น นักการปกครอง นายอำเภอ แต่เรียนไม่เก่ง จึงหันเหไปเรียนต่อปริญญาตรีด้านศาสนศาสตร์ของคริสเตียน โดยทำงานหาเงินส่งตัวเองเรียน ที่นี่ผมต้องเรียนร่วมกับเด็กจากทั่วประเทศ เป็นชาวเขาก็ถูกมองว่าเป็นชนส่วนน้อย อ่านภาษาไทยหรือพูดไม่ชัดก็โดนล้อ จนบางครั้งอดไม่ไหวอยากเดินเข้าไปชกหน้า ก็ได้แต่เก็บความรู้สึกไว้ในใจว่า สักวันชาวเขาที่ด้อยโอกาสอย่างเราจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้ได้”
“ผมเรียน 3 ปี แล้วฝึกงานอีก 1 ปีกับมูลนิธิพันธกิจพระพร (ไทย)จังหวัดเชียงราย เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กพิการทางสมอง ตั้งแต่นั้นชีวิตผม ก็เบนเข็มมาทำงานเพื่อสังคม เป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานในโครงการเด็กใด้ร่มพระคุณของคริสตจักรเชียงดาวประมาณ 2-3 ปี ก็ย้ายไปดูแลเด็กกำพร้ากับเด็กด้อยโอกาสที่หน่วยงานเอ็นจีโอแห่งหนึ่งที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งธรรมชาติของเด็กกำพร้าจะมีปัญหาจากการที่เติบโตมาแบบขาดความอบอุ่น จึงมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจแบบผิด ๆ เกเร ชกต่อยกัน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า จนถึงดมกาว ผมพยายามดึงเขาออกมาจากสิ่งเหล่านั้น ด้วยกีฬา หนึ่งในนั้นก็ยังมีเด็กดี ตั้งใจเรียน จบสายอาชีพแล้วไปต่อมหาวิทยาลัย”


“ทุกครั้งเวลาผมกลับบ้าน เห็นเด็กชาวเขาที่ไม่ได้เรียนหนังสือแล้วอดห่วงไม่ได้ คิดถึงตัวเองหากไม่ได้เรียน จุดจบอาจไปอยู่ในคุกเหมือนเด็กหนุ่มหลายคนในหมู่บ้าน แม้ทางการมีมาตรการปราบปรามยาเสพติดอย่างหนัก แต่ในความเป็นจริงยังระบาดอยู่ บนดอยลึกยังมีลักลอบปลูกฝิ่นกับค้ายาบ้า วัยรุ่นพอไม่มีเงินก็รับจ้างขนยา ค้ายา พ่อแม่รู้ทั้งรู้แต่ไม่มีความสามารถที่จะช่วยเหลือ ส่วนเด็กผู้หญิงอายุ 12- 13 ปีก็แต่งงาน แล้วก็เริ่มต้นสร้างปัญหาสังคม คือมีลูก แล้วก็หย่า จากนั้นไปทำงานกรุงเทพฯ ทิ้งลูกให้พ่อแม่เลี้ยง”
“ดังนั้นจึงเหมือนภาระทางใจว่า สักวันผมต้องสร้างเสริมเด็กชาวเขาเหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิต อย่างน้อยต้องดีกว่าผม มีงานทำ จะเป็นหมอหรือครูก็ได้ อยากให้เขามีการศึกษากลับไปช่วยเหลือพ่อแม่ พัฒนา บ้านเกิด เพื่อตอบแทนพ่อหลวงที่ให้พวกเราชาวเขาได้หนีร้อนมาพึ่งเย็น ตั้งแต่เด็กผมถูกปลูกฝังว่าให้รักในหลวง เพราะการที่เราเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระเมตตาของพระองค์ที่ให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น โดยพระองค์ได้ริเริ่มโครงการช่วยเหลือชาวเขา ซึ่งทุกวันนี้พวกเราก็ดำเนินตามแนวพระราชดำริคือ เศรษฐกิจพอเพียง มีอยู่ มีกิน มีใช้ ผมจึงอยากให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นคนดี มีอนาคตที่ดี แล้วกลับมาพัฒนาบ้านเกิด”
“อย่างเด็กชายคนหนึ่ง ยายพามาฝาก บอกว่า แม่หายสาบสูญ อยู่กับพ่อที่ติดยาเสพติด ไม่ดูแลลูก จึงต้องให้ยายเลี้ยง ยายไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงหลาน เด็กขาดเรียนบ่อยมากจนเวลาเรียนไม่พอ ห่างกันไม่นานเพื่อนผมพาเด็กผู้ชายอายุ 13 ปีมาฝาก บอกว่า พ่อติดคุก แม่มีสามีใหม่ ลูกไม่ถูกกับพ่อใหม่จึงต้องอยู่กับตา ทำให้ผมตัดสินใจได้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำสิ่งที่ติดค้างในใจเสียที อนาคตของเด็กสองคนนี้กำลังมืดมน ซึ่งน่าเสียดายมากเพราะเรียนดี ฉะนั้นแม้ผมไม่มีเงิน และไม่รู้จักใคร แต่เชื่อในพระเจ้าว่าการให้ มีความสุขมากกว่าการรับ แล้วพระเจ้าจะอวยพร ‘ ผมจึงเปิด บ้านพักเด็กธารพระพรขึ้น โดยมูลนิธิบ้านนกขมิ้นยกที่ดินให้ ผมใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นเรือนพักเด็ก แล้วรับเด็กสองคนนั้นมาอยู่และส่งเสียให้เรียนโดยบอกเพื่อนว่า หากมีเด็กยากจน เด็กกำพร้า หรือด้อยโอกาส สามารถนำมาฝากได้ ผมใช้วิธีไปบอกข่าวในโบสถ์คริสเตียนเรื่องของการทำ บ้านเด็กธารพระพร ก็มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญ เป็นเงินบ้าง ข้าวสาร หรืออาหารตามฤดูกาลบ้าง ก็นำมาเป็นอาหารของเด็ก แต่หากเทียบกับเด็กที่ผมรับมาเลี้ยง ส่วนใหญ่ยากจนและด้อยโอกาส เด็กบางราย พ่อแม่เป็นชาวเขา วันดีคืนดีถูกทางการยึดที่ดินทำกินที่หาเลี้ยงมาตลอดชีวิตทำงานอื่นก็ไม่ได้ เพราะไม่มีบัตรประชาชน”
“ผมเชื่อว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ทำให้ผมสามารถสร้างบ้านเด็กธารพระพรให้เป็นจริง และหากเราทำด้วยความสัตย์ซื่อ ด้วยความจริงใจ ตั้งใจ พระเจ้าจะอวยพรมากกว่านี้ แม้เด็ก ๆ ทั้ง 37 ชีวิตมาจากหลายชนเผ่า ทั้งอาข่า ลีซู ลาหู่ แต่เราอยู่กันเป็นครอบครัว โชคดีที่เด็กเชื่อฟัง เรียนดี ประพฤติดี จนได้รับเกียรติบัตรกลับมาให้ผมได้ชื่นใจ จนเด็ก ๆ เริ่มกล้าที่จะฝันว่า ชีวิตนี้อยากเป็นอะไร มีทั้งครู ตำรวจ จนถึงช่าง”
“หากผมสามารถทำให้เด็กมีความฝันได้ ถือว่าได้ทำสำเร็จแล้ว”

th